สารอาหารหลัก 5 หมู่ มีประโยชน์อย่างไร

อาหารหลัก 5 หมู่

อาหาร คือ สิ่งที่เรากินเข้าไปแล้วให้สารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ร่างกายจึงต้องการอาหารหลัก 5 หมู่ ซึ่งแต่ละวันเราควรรับประทานอาหาร ในปริมาณที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ อาหารหลัก 5 หมู่แต่ละชนิดจะให้สารอาหารที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราควรเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย ในแต่ละมื้อพร้อมกัน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ และนำมาใช้ประโยชน์ได้ ช่วยให้ร่างเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

หัวข้อน่าสนใจ

อาหารหลัก 5 หมู่ มีอะไรบ้าง

อาหารหลัก 5 หมู่มีความสำคัญ เพื่อให้สารอาหารและพลังงานที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และสุขภาพที่ดี ในแต่ละวันเราต้องกินอาหาร 3 มื้อ อาหารที่เรากินทุกวันไม่ว่าจะเป็น ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น กะเพราไก่ไข่ดาว เป็นต้น ล้วนประกอบไปด้วยอาหารประเภทต่างๆ มีอะไรบ้างนั้นมาดูกันได้เลย

อาหารหลักหมู่ที่ 1 โปรตีน (เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ)

รูปอาหารหมู่ที่ 1 โปรตีน
แหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์และถั่ว

อาหารในกลุ่มโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ไข่ อาหารทะเล ถั่ว และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ถือว่าเป็นสารอาหารที่สำคัญที่สุดในร่างกาย โปรตีนเป็นส่วนประกอบของทุก ๆ เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะในร่างกาย ที่มีปริมาณมากเป็นอันดับสองรองจากนํ้า โปรตีนพบได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่เส้นผมจนไปถึงเล็บเท้า เป็นส่วนประกอบของทุกเซลล์ในร่างกาย รวมทั้งเอนไซม์ที่ทำปฏิกิริยาเคมีหลายอย่าง และเฮโมโกลบินที่ลำเลียงออกซิเจนในเลือดของเรา ร่างกายต้องการโปรตีนจากอาหารที่เรากินเพื่อสร้างและรักษา กระดูก กล้ามเนื้อ และผิวหนัง เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้

อาหารหมู่ที่ 1 แหล่งโปรตีน มีอะไรบ้าง

  • เนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแพะ และเนื้อแกะ
  • เนื้อสัตว์ปีก ได้แก่ ไก่ เป็ด ห่าน นกกระทา ไก่งวง และนกกระจอกเทศ
  • อาหารทะเล ได้แก่ ปลาทู ปลาแซลมอน หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยเชลล์ ปลาหมึก ปูและกุ้งในทะเล
  • ไข่ ได้แก่ ไข่ไก่ และไข่เป็ด
  • ถั่ว และเมล็ดธัญพืช ได้แก่ ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ถั่วแขก ถั่วพู ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วปากอ้า งา มะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ วอลนัท และแมคาเดเมีย
  • ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ได้แก่ น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ถั่วเหลือง เต้าหู้ขาว โปรตีนเกษตร แป้งถั่วเหลือง และเทมเป้

ประโยชน์ของอาหารหมู่ที่ 1 โปรตีน ต่อร่างกาย

  • มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโต รักษา และซ่อมแซมเนื้อเยื้อที่สึกหรอ
  • มีความจำเป็นสำหรับการสร้างสารสำคัญในร่างกาย ได้แก่ เอนไซม์ ฮอร์โมน แอนติบอดี และฮีโมโกลบิน
  • ช่วยในการแข็งตัวของเลือด
  • เป็นแหล่งพลังงานสำรอง

อาหารหลักหมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต (ข้าว ขนมปัง น้ำตาล มัน ข้าวโพด)

รูปอาหารหมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต
คาร์โบไฮเดรตพบได้ในแป้งและนํ้าตาล

อาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าว ขนมปัง น้ำตาล มันฝรั่ง นอกจากนี้คาร์โบไฮเดรตยังมีอยู่ในผัก และผลไม้รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม สารอาหารนี้เป็นแหล่งพลังงานหลักที่สำคัญของร่างกาย ช่วยให้สารอาหารอื่น ๆ ทำหน้าที่ได้ตามปกติ ร่างกายของเราสลายคาร์โบไฮเดรตเป็นกลูโคส กลูโคสหรือน้ำตาลในเลือดเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะในร่างกาย กลูโคสสามารถได้ทันทีหรือเก็บไว้ในตับและกล้ามเนื้อเพื่อไว้ใช้ในภายหลัง

อาหารหมู่ที่ 2 แหล่งคาร์โบไฮเดรต มีอะไรบ้าง

  • ธัญพืช ได้แก่ ข้าวสุก ขนมปัง วุ้นเส้น บะหมี่ พาสต้า แครกเกอร์ และซีเรียล
  • ผักประเภทแป้ง ได้แก่ มันฝรั่ง ข้าวโพด ฟักทอง และเผือก

ประโยชน์ของอาหารหมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต ต่อร่างกาย

  • มีความสำคัญเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย
  • มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง โดยเฉพาะเซลล์ประสาท การขาดกูลโคสหรือออกซิเจน แม้ชั่วชั่วขณะหนึ่งจะทำให้เซลล์สมองเสื่อม
  • ช่วยสงวนโปรตีนให้ร่างกาย เพื่อนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์มากที่สุด
  • คาร์โบไฮเดรตที่เหลือใช้ เปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกายได้

อาหารหลักหมู่ที่ 3 เกลือแร่ หรือแร่ธาตุ (พืช ผักต่างๆ)

รูปอาหารหมู่ที่ 3 เกลือแร่ หรือแร่ธาตุ
ผักนั้นสำคัญควรทานทุกมื้อ

อาหารในกลุ่มเกลือแร่ เป็นสารอาหารอีกประเภทหนึ่ง ร่างกายต้องการไม่มากแต่ขาดไม่ได้เช่นกัน เพราะแร่ธาตุบางชนิดเป็นส่วนประกอบของอวัยวะ และกล้ามเนื้อบางอย่าง เช่น กระดูก ฟัน เลือด บางชนิดเป็นส่วนของสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตในร่างกาย เช่น ฮอร์โมน เฮโมโกลบิน เอนไซม์ เป็นต้น นอกจากนี้แร่ธาตุยังช่วยในการควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายให้ทำหน้าที่ปกติ เช่น ควบคุมการทางานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท การแข็งตัวของเลือด และช่วยควบคุมสมดุลของนํ้าในการไหลเวียนของของเหลวในร่างกาย

อาหารหมู่ที่ 3 แหล่งเกลือแร่ มีอะไรบ้าง

  • ผักใบเขียว ได้แก่ ผักชี ผักคะน้า กระหล่ำปลี ใบผักโขม โหระพา มะระขี้นก และบร็อคโคลี
  • ผักสีส้มและสีเหลือง ได้แก่ ฟักทอง แครอท พริก มะเขือเทศ พริกหยวกสีแดงและสีส้ม
  • ผักอื่น ๆ ได้แก่ ผักกาด หน่อไม้ ถั่วงอก กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว ขึ้นฉ่าย ผักชีฝรั่ง มะเขือ กระเทียม หัวหอม หัวไชเท้า และสาหร่าย

ประโยชน์ของอาหารหมู่ที่ 3 เกลือแร่ ต่อร่างกาย

  • รักษาความสมดุลของกรดและด่าง
  • รักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย
  • ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฟัน ช่วยทำให้ผิวพรรณสดใส

อาหารหลักหมู่ที่ 4 วิตามิน (ผลไม้ต่างๆ)

รูปอาหารหมู่ที่ 4 วิตามิน
ผลไม้เปรี้ยวหวานฝาด ล้วนมีประโยชน์

อาหารในกลุ่มวิตามิน ผลไม้เป็นแหล่งของสารอาหารที่พบมากจำพวกวิตามิน เช่น วิตามินซี วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค เป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้ ถ้าขาดจะทำให้ระบบในร่างกายของเราผิดปกติ หรือเกิดโรคต่างๆได้

อาหารหมู่ที่ 4 แหล่งวิตามิน มีอะไรบ้าง

  • เบอร์รี่ ได้แก่ บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ แบล็คเคอร์แรนท์  แบล็กเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ มัลเบอร์รี่ องุ่น สตรอเบอร์รี่ และโทงเทงฝรั่ง
  • ผลไม้ประเภทแตง ได้แก่ แคนตาลูป แตงโม
  • ผลไม้อื่นๆ ได้แก่ แอปเปิ้ล กล้วย ทุเรียน มะเดื่อ ฝรั่ง ขนุน ลิ้นจี่ มะม่วง ส้ม เสาวรส เงาะ มะขาม มะเฟือง มะละกอ และมังคุด

ประโยชน์ของอาหารหมู่ที่ 4 วิตามิน ต่อร่างกาย

  • ช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติ
  • ชะลอความเสื่อมของร่างกาย
  • บำรุงสุขภาพของผิวหนังให้สดชื่น รวมทั้งสุขภาพปาก เหงือก และฟัน
  • ช่วยให้ระบบการย่อยและการขับถ่ายเป็นปกติ

อาหารหลักหมู่ที่ 5 ไขมัน (น้ำมันพืช ไขมันสัตว์ เนย)

รูปอาหารหมู่ที่ 5 ไขมัน
ไขมันควรทานในแต่ละวันเพียงเล็กน้อย

อาหารในกลุ่มไขมัน มีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติทั่วไป มีมากในอาหารประเภทมันสัตว์และน้ำมันพืช เช่น มะพร้าว ถั่วเหลือง รำข้าว น้ำมันหมู น้ำมันปลา ประกอบไปด้วยกรดไขมันชนิดต่าง ๆ ที่ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต ร่างกายจะสะสมพลังงานที่ได้จากอาหารหมู่ที่ 5 นี้ไว้ใต้ผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น บริเวณสะโพก ต้นขา ไขมันที่สะสมไว้เหล่านี้จะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

อาหารหมู่ที่ 5 แหล่งไขมัน มีอะไรบ้าง

  • ไขมันจากสัตว์ ได้แก่ เนย ครีม น้ำมันปลา ไขมันในเนื้อสัตว์ เช่น น้ำมันหมู น้ำมันไก่
  • ไขมันจากพืช ได้แก่ น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก นํ้ามันดอกทานตะวัน

ประโยชน์ของอาหารหมู่ที่ 5 ไขมัน ต่อร่างกาย

  • ให้พลังงานมาก
  • ลดการใช้โปรตีนเป็นแหล่งพลังงาน
  • เป็นตัวนำวิตามินที่ละลายในไขมัน (วิตามินเอ ดี อี เค) ให้มีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
  • ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ โดยชั้นไขมันใต้ผิวหนังช่วยรักษาความร้อนให้กับร่างกาย
  • ช่วยลดการกระทบกระเทือนของอวัยวะภายใน

ดังนั้นอาหารหลัก 5 หมู่ล้วนมีส่วนสำคัญ เมื่อได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างสมดุล ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ผัก ผลไม้ และไขมัน ที่ดีต่อร่างกาย ในแต่ละมื้ออาหารควรกินอาหารหลัก 5 หมู่ให้ครบถ้วน ตามปริมาณที่ร่างกายต้องได้รับในแต่ละวัยอย่างเหมาะสม ควรดื่มนมในปริมาณที่พอเหมาะ และดื่มนํ้าวันละ 6-8 แก้ว ที่สำคัญควรแบ่งเวลาออกกำลังกายบ้าง ทั้งหมดเหล่านี้ช่วยทำให้เรามีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจแจ่มใส ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

ข้อควรรู้กับสารอาหารหลัก 5 หมู่

สารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย มี 3 กลุ่มได้แก่

1. คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี
2. ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี
3. โปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี

ถ้าหากบริโภคไขมันสัตว์มากเกินไปจะส่งผลอย่างไร

ส่งผลต่อระดับคอเลสเทอรอลในร่างกายสูง ทำให้เป็นโรคอ้วน โรคไขมัน และไขมันในเลือดสูง รวมทั้งโรคหัวใจ

โปรตีนควรได้รับปริมาณเท่าไหร่ ใน 1 วัน

สำหรับคนทั่วไปควรได้รับ โปรตีน 1 กรัม ต่อนํ้าหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

เมนูอาหารที่ครบ 5 หมู่ มีอะไรบ้าง?

1. ผัดซีอิ๊ว
2. ก๋วยจั๊บ
3. ก๋วยเตี๋ยว
4. แกงขี้เหล็ก
5. ข้าวกะเพระาไก่ไข่ดาว
6. ข้าวผัด
7. ข้าวมันไก่
8. น้ำพริกปลาทู
9. ผัดไทย
10. สเต๊ก

สารอาหารแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม มีอะไรบ้าง?

1. กลุ่มสารอาหารที่ให้พลังงาน ได้แก่ ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน
2. กลุ่มสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน ได้แก่ แร่ธาตุ และวิตามิน

KIGKOK
Logo