เรื่องน่ารู้ ว่านหางจระเข้กินได้ไหม

ว่านหางจระเข้กินได้ไหม

ว่านหางจระเข้นั้นเป็นมากกว่าพืช หลายคนสงสัยว่านหางจระเข้กินได้ไหม และควรทานดีหรือไม่ ไม่ต้องตกใจไปว่านหางจระเข้ถูกนำมาใช้ในการแพทย์แผนโบราณมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้วได้มีการศึกษาพบว่า ว่านหางจระเข้มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพต่างๆ ด้วยเช่น ใช้รักษาอาการผิวไหม้จากแดด ต่อสู้กับคราบพลัคในช่องปาก และลดระดับน้ำตาลในเลือด

นอกจากนี้ ว่านหางจระเข้ยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีสารประกอบออกฤทธิ์ได้มากกว่า 75 ชนิด รวมถึงวิตามิน แร่ธาตุ เอนไซม์ กรดอะมิโน กรดไขมัน และโพลีแซคคาไรด์

ใบว่านหางจระเข้กินได้ไหม ปลอดภัยหรือไม่

ส่วนประกอบใบว่านหางจระเข้

ส่วนของว่านหางจระเข้ที่ใช้กันมากที่สุดคือ ใบว่านหางจระเข้ ซึ่งใบว่านหางจระเข้แต่ละใบมีสามส่วนดังนี้

  • เจลใสภายในซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำ
  • น้ำยางชั้นกลาง
  • ชั้นนอกหนาเรียกว่าเปลือก

เรารู้จักกันดีในเรื่องของส่วนใสๆ ที่เรียกว่าเจลของว่านหางจระเข้ มีประโยชน์ต่อสุขภาพเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่ใช้ส่วนเจลทาลงบนผิว แต่ก็ปลอดภัยที่จะรับประทานเมื่อเตรียมอย่างถูกต้อง เจลว่านหางจระเข้มีรสชาติที่นุ่มนวล สดชื่น และสามารถเติมลงในสูตรอาหารต่างๆ ได้รวมทั้งสมูทตี้

ในการเตรียมเจล ให้ตัดขอบแหลมที่ด้านบนและด้านข้างใบว่านหางจระเข้ออก ถัดไปแล่ผิวด้านแบน นำเจลใสออกแล้วหั่นเป็นลูกเต๋าเล็กๆ

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ล้างก้อนเจลอย่างทั่วถึงเพื่อขจัดเศษสิ่งสกปรก และสารตกค้างออกทั้งหมด สารตกค้างจากน้ำยางสามารถทำให้เจลมีรสขมที่ไม่พึงประสงค์ น้ำยางเป็นของเหลวสีเหลืองบางๆ อยู่ระหว่างเปลือกผิวใบกับเจล ประกอบด้วยสารประกอบที่มีคุณสมบัติเป็นยาระบายที่มีประสิทธิภาพ เช่น อะโลอิน (aloin)

วิธีเอาเจลออกจากใบว่านหางจระเข้

ขั้นตอนที่ 1: ทำความสะอาด

สิ่งสำคัญควรล้างมือก่อน จากนั้นล้างใบว่านหางจระเข้แล้วเช็ดให้แห้งด้วยกระดาษอเนกประสงค์ ล้างเขียงที่จะใช้ตัดด้วย สิ่งนี้ทำเพื่อรักษาความสะอาด เนื่องจากเราไม่ต้องการเจลว่านหางจระเข้ปนเปื้อนเพื่อสุขอนามัยที่ดี

ขั้นตอนที่ 2: นำน้ำยางสีเหลืองออกจากใบ

นำน้ำยางออกจากใบว่านหางจระเข้ ให้วางใบให้ตั้งตรงเป็นมุมเพื่อให้น้ำยางที่กินไม่ได้ระบายออกมา ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที การตัดเป็นมุมที่โคนใบช่วยให้น้ำยางไหลออกได้ง่ายขึ้น หลังจากที่น้ำยางไหลออกแล้ว ให้ล้างปลายใบที่ตัดแล้วเพื่อเอาน้ำยางที่เหลือออก และเช็ดเบา ๆ ด้วยกระดาษอเนกประสงค์ที่สะอาดให้แห้ง

ขั้นตอนที่ 3: ตัดส่วนปลายแหลม

ตัดส่วนปลายออกประมาณ 10 ซม. เนื่องจากส่วนนี้ของใบมีเจลน้อยและมีน้ำยางมาก

ขั้นตอนที่ 4: แบ่งส่วนใบให้พอดี

ตัดใบยาวครึ่งหนึ่งเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน เพียงแค่ต้องการตัดให้ยาวพอที่จะนำมาหั่นบนเขียงได้อย่างง่ายดาย

ขั้นตอนที่ 5: ตัดขอบใบ

ใช้มีดคมตัดขอบส่วนใบหยักออก

ขั้นตอนที่ 6: นำเปลือกใบออก

ควรทำอย่างระมัดระวัง! เจลว่านหางจระเข้นั้นลื่นมาก ลอกเปลือกชั้นผิวใบสีเขียวด้านนอกออกด้วยมีด เผยให้เห็นเจลคล้ายเยลลี่ใสอยู่ข้างใน พยายามให้มีดแนบชิดกับเปลือกผิวใบสีเขียว เพื่อแยกเจลออกจากผิวใบให้ได้มากที่สุด

ขั้นตอนที่ 7: แยกส่วนเจล

ลอกเปลือกชั้นผิวใบที่เหลือออกด้วยมีด หรือใช้ช้อนขูดเจลใสๆ อย่างเบามือก็ได้

ขั้นตอนที่ 8: ตัดแผ่นเจล

นำเจลใสมาล้างนํ้าเบา ๆ ใต้ก็อกนํ้านำเอาน้ำยางที่เหลืออยู่ออก จากนั้นตัดเจลว่านหางจระเข้เป็นก้อน ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บ

ขั้นตอนที่ 9: จัดเก็บเจลว่านหางจระเข้

จากนั้นเก็บเจลว่านหางจระเข้ในขวดโหลที่มีฝาปิดแน่น นำมาใส่ไว้ในตู้เย็น ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นานถึงหนึ่งสัปดาห์ เพียงใช้ช้อนตักออกเท่านั้นเมื่อต้องการนำมาใช้ ถ้าหากต้องการยืดอายุการเก็บรักษาของเจลว่านหางจระเข้ ทำได้เองโดยการเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ เช่น กรดแอสคอร์บิก (วิตามินซี) แนะนำให้เพิ่มผงวิตามินซี 1 ช้อนชา ลงในเจลว่านหางจระเข้ 3 ถ้วย แล้วปั่นด้วยเครื่องปั่นด้วยความเร็วระดับต่ำ

เปลือกใบว่านหางจระเข้สีเขียวที่เหลือสามารถใส่ลงในปุ๋ยหมัก หรือฝังไว้ในสวนเพื่อเป็นสารอาหารในดิน

ประโยชน์ที่ได้รับจากการรับประทานว่านหางจระเข้

การรับประทานเจลว่านหางจระเข้นั้นมีคุณค่าต่อสุขภาพ ประโยชน์ที่อาจได้รับจากการรับประทานว่านหางจระเข้มีต่อดังนี้

  • อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด: ในการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ทดลอง เจลว่านหางจระเข้ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยเพิ่มความไวของอินซูลิน (1)
  • อาจช่วยยับยั้งการอักเสบ: ในการศึกษาในสัตว์ทดลองและในหลอดทดลอง สารสกัดว่านหางจระเข้ยับยั้งสัญญาณการอักเสบ เช่น TNFα, IL-1 และ IL-6 (2)
  • ช่วยลดคราบพลัคหากใช้เป็นน้ำยาบ้วนปาก: น้ำว่านหางจระเข้อาจมีประสิทธิภาพเทียบเท่าน้ำยาบ้วนปากทั่วไป ในการลดการสะสมของคราบพลัค (3)
  • อาจช่วยเพิ่มความจำและลดอาการซึมเศร้า: ในการศึกษากับสัตว์ทดลอง การบริโภคเจลว่านหางจระเข้ช่วยเพิ่มการเรียนรู้และความจำในขณะเดียวกันก็ลดอาการซึมเศร้า (4)
  • อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ: การรับประทานเจลว่านหางจระเข้เป็นประจำอาจทำให้ระดับสารต้านอนุมูลอิสระในเลือดสูงขึ้น สารต้านอนุมูลอิสระช่วยต่อสู้กับความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารประกอบที่เชื่อมโยงกับโรคเรื้อรังหลายชนิด (5)

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากทานว่านหางจระเข้

โดนเฉพาะน้ำยางของว่านหางจระเข้ ซึ่งเป็นของเหลวสีเหลืองที่พบในใบมีความเสี่ยง การกินน้ำยางว่านหางจระเข้เป็นเวลานานทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ปัญหาเกี่ยวกับไต หัวใจเต้นผิดปกติ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำยาง เพราะอาจกระตุ้นการหดตัวของมดลูก ซึ่งอาจทำให้แท้งได้

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD: Inflammatory Bowel Disease) หรือโรคโครห์น (Crohn’s Disease) ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำยางว่านหางจระเข้ เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลง นอกจากน้ำยางแล้ว ไม่แนะนำให้บริโภคเจลว่านหางจระเข้สำหรับผู้ที่รับประทานยารักษาโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือไต เนื่องจากอาจทำให้ผลข้างเคียงจากยาแย่ลงได้

น้ำยางจากว่านหางจระเข้อาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะกับสตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีปัญหาทางเดินอาหาร และผู้ที่ใช้ยาบางชนิด ควรหลีกเลี่ยงเจลว่านหางจระเข้หากทานยารักษาโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือไต

บทส่งท้าย

เจลว่านหางจระเข้นั้นสามารถรับประทานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจลอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ อย่าลืมล้างทำความสะอาดเจลอย่างทั่วถึงเพื่อขจัดร่องรอยของน้ำยางทั้งหมดซึ่งมีรสชาติขมไม่พึงประสงค์ และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายแก่ร่างกายได้

KIGKOK
Logo